เจ้าหน้าที่ทางการไทยเปิดเผยว่า ไทยกำลังเจรจากับบริษัทผลิตแบตเตอรีรายใหญ่ของจีน CATL (Contemporary Amperex Technology Co Ltd.) และผู้ผลิตอีกหลายราย เพื่อให้ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีในประเทศไทยซึ่งตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของรอยเตอร์
การหารือในเรื่องนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกนอกประเทศจีน โดยทางการไทยได้เสนอมาตรการจูงใจหลายด้าน รวมถึงการลดภาษีและการอุดหนุน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า "เรากำลังเจรจากับหลายบริษัทในอุตสาหกรรมแบตเตอรี ไม่ใช่แค่ CATL เท่านั้น" พร้อมยืนยันว่า หนึ่งในเป้าหมายคือการดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรีให้ตั้งโรงงานในไทย
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ไทยต้องการดึงดูดทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และโรงงานประกอบรถไฟฟ้า รวมทั้งผู้ผลิตแบตเตอรีและอุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น เครื่องชาร์จไฟ ให้เข้ามาลงทุนในไทย ผ่านการสนับสนุนโดยตรงและมาตรการอุดหนุนต่าง ๆ
CATL คือผู้ผลิตแบตเตอรีรายใหญ่ของโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาด 37% มีโรงงานผลิตแบตเตอรี 13 แห่ง ในจำนวนนี้ 11 แห่งอยู่ในจีน อีก 2 แห่งอยู่ในเยอรมนีและฮังการี แต่ยังไม่มีโรงงานของตัวเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้างอิงจากเว็บไซต์ของบริษัท
โดย CATL ทำสัญญาผลิตแบตเตอรีให้กับบริษัทรถยนต์หลายบริษัท รวมทั้ง ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) ฮอนดา มอเตอร์ (Honda Motor) และบีเอ็มดับเบิลยู (BMW)
ทางด้าน CATL ยังมิได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้เมื่อทางรอยเตอร์สอบถามไป
เมื่อปีที่แล้ว CATL ประกาศความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ อรุณพลัส (ARUN PLUS) บริษัทลูกของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อสำรวจโอกาสความเป็นไปได้ในความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรีในอาเซียน
ปัจจุบัน ประเทศไทยคือผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 10 ของโลก โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะปรับเปลี่ยนการผลิตรถยนต์ 30% ของศักยภาพการผลิต 2.5 ล้านคันต่อปี ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2573