All-new Honda BR-V ใหม่ เปิดตัวในไทยด้วยราคาจำหน่ายที่ทำเอาหลายคนต้องร้อง ห๊ะ! เพราะดันรุ่นเริ่มต้นไปทะลุ 9 แสนบาท ขณะที่รุ่นท็อปสุดก็หย่อนล้านนิดหน่อยเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าราคาที่ตั้งไว้อาจจะสูงไปนิด แต่ก็อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีไปเสียก่อนล่ะ เพราะ BR-V โฉมใหม่ ก็มีความโดดเด่นไม่น้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในปัจจุบัน จะน่าใช้แค่ไหนไปติดตามได้ในบทความนี้ครับ
ฮอนด้า บีอาร์-วี เจเนอเรชันที่ 2 ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนกันยายน 2564 ก่อนจะทยอยเปิดตัวและเริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งฮอนด้าได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการยกระดับรถอเนกประสงค์รุ่นนี้ให้มีความเป็น “เอสยูวี” มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบรูปลักษณ์, การเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร และการเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่เมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้ว
สำหรับ Honda BR-V ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น E และรุ่น EL โดยฮอนด้าได้ชูจุดเด่นอยู่ที่การติดตั้งระบบความปลอดภัย Honda SENSING เป็นอุปกรณ์มาตรฐานทั้งสองรุ่นย่อย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ใช้ในรถฮอนด้ารุ่นใหม่ๆ อย่าง Civic และ HR-V ก่อนหน้านี้ (และแน่นอนว่าราคาจำหน่ายของรุ่นเริ่มต้นก็ขยับเพิ่มขึ้นไปด้วย)
ส่วนการทดสอบในครั้งนี้จะเน้นไปที่รุ่น EL ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุด ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ครบครันที่สุด และเชื่อว่าน่าจะเป็นรุ่นที่ลูกค้าหลายคนยอมเพิ่มเงินส่วนต่างเล็กน้อยเพื่อขยับมาเล่นรุ่นท็อปสุดแทน ด้วยราคาที่แตกต่างกันเพียง 58,000 บาทเท่านั้น (อันที่จริงส่วนต่างที่ว่านี้ก็ถือว่าไม่น้อยหรอกครับ หากแต่ราคาทั้งสองรุ่นย่อยมันพุ่งขึ้นไปจนเกือบแตะหลักล้าน เมื่อเทียบกันแล้วหลายคนก็พึงยอมจ่ายเพื่อแลกกับออปชันที่เพิ่มขึ้นมา)
รูปลักษณ์ภายนอกของ Honda BR-V ใหม่ ยังคงยึดแนวทางการออกแบบ Solid Wing Face ที่พบในฮอนด้าแทบทุกรุ่น มาพร้อมไฟหน้าแบบ LED พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED เป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่นย่อย ขณะที่เส้นสายตัวถังด้านข้างถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงบึกบึนเพิ่มขึ้น (จากเดิมที่ดูยังไงก็เหมือนเอา Mobilio มายกสูงอยู่ดี) ตกแต่งส่วนล่างของตัวถังและซุ้มล้อด้วยวัสดุสีดำช่วยเพิ่มความสมบุกสมบัน
ขณะที่ดีไซน์ด้านท้ายดูเรียบง่ายไม่หวือหวา ติดตั้งไฟท้ายแบบ LED ที่มีกลิ่นอายของ City และ City Hatchback รุ่นปัจจุบัน เสริมด้วยสปอยเลอร์, ราวหลังคา และเสาอากาศแบบครีบฉลามมาให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ช่วยให้รูปลักษณ์ด้านท้ายดูเต็มยิ่งขึ้น
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ของ Honda BR-V ที่มีให้ทั้งรุ่น E และ EL ประกอบไปด้วย กระจกมองข้างปรับ-พับไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยว, ระบบปัดน้ำฝนแบบปรับตั้งหน่วงเวลาได้ และระบบปัดน้ำฝนด้านหลัง ขณะที่รุ่น EL เพิ่มเติมด้วยกระจังหน้าสีดำ Piano Black, ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED และระบบพับกระจกมองข้างอัตโนมัติเมื่อล็อกประตูรถ โดยที่รุ่น E จะได้ล้ออัลลอยแบบ 5 ก้าน ขนาด 16 นิ้ว ส่วนรุ่น EL จะได้ล้ออัลลอยสีทูโทนขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 17 นิ้ว
ห้องโดยสารของรุ่น E จะเป็นสีทูโทน ดำ-มอกค่าเกรย์ ตกแต่งเพดานหลังคาด้วยสีครีม ขณะที่รุ่น EL จะได้สีดำล้วนทั้งหมดไล่ไปจนถึงเพดานหลังคา ทำให้บรรยากาศดูมีความสปอร์ตมากขึ้น โดยทั้งสองรุ่นย่อยถูกติดตั้งเบาะนั่งหุ้มหนังแท้สลับหนังสังเคราะห์ทั้ง 3 แถว 7 ที่นั่งมาให้จากโรงงาน สามารถปรับสูง-ต่ำได้เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนเบาะแถว 2 สามารถปรับเลื่อน-ปรับเอน พับแยกแบบ 60:40 ได้ และยังเพิ่มพนักพิงศรีษะสำหรับผู้โดยสารคนกลางมาให้ด้วย ไม่ต้องทนเมื่อยคออีกต่อไป
ขณะที่เบาะแถว 3 สามารถปรับเอนได้ 2 ระดับ และพับแยกได้แบบ 50:50 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานของรถ 7 ที่นั่งที่พบได้ทั่วไป โดยที่รุ่น E จะมีราวมือจับมาให้ 3 ตำแหน่ง ครอบคลุมเฉพาะ 2 แถวหน้า (ยกเว้นคนขับ) และรุ่น EL จะได้ราวจับ 6 ตำแหน่งรวมคนขับมาให้ด้วย
ห้องโดยสารของ Honda BR-V ใหม่ ก็ยังคงให้ความรู้สึกกว้างขวาง ไม่อึดอัด ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของฮอนด้าที่ทำได้ดีมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ BR-V ใหม่คันนี้ ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 สามารถนั่งโดยสารได้จริง โดยเฉพาะเบาะนั่งแถวที่ 2 ที่สามารถเลื่อนไปทางด้านหน้าเพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้แถวที่ 3 ได้ แต่ก็ดูจะเหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างเล็กเสียมากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระจกหน้าต่างถูกออกแบบด้วยรูปทรงสามเหลี่ยม แม้ว่าจะช่วยให้รูปร่างภายนอกดูโฉบเฉี่ยว แต่ก็ทำให้คนนั่งแถวหลังแอบรู้สึกอึดอัดอยู่เหมือนกัน
อุปกรณ์มาตรฐานของ BR-V แม้ว่าจะไม่ได้อัดแน่นจนถึงขั้นทำให้รู้สึกว้าว แต่ก็มีของจำเป็นให้แบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือนไมล์แบบ Analog เน้นอ่านง่ายสบายตา พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว ติดตั้งพวงมาลัยหุ้มหนังแบบมัลติฟังก์ชันปรับระดับสูง-ต่ำได้ บริเวณแผงประตูผู้ขับขี่ติดตั้งปุ่มควบคุมมาให้ตามมาตรฐาน ทั้งสวิตช์ปรับกระจกมองข้าง, สวิตช์ควบคุมเซ็นทรัลล็อก และปุ่มกระจกไฟฟ้าที่มีฟังก์ชัน Auto เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น
ระบบปรับอากาศของทั้งรุ่น E และ EL เป็นแบบอัตโนมัติควบคุมด้วยปุ่มกด ซึ่งมีฟังก์ชันควบคุมมาให้แบบครบครัน ไม่ขาดๆ เกินๆ เหมือนกับคู่แข่งบางรุ่น (รุ่นไหนไปเดากันเอาเอง) รวมถึงมีฟังก์ชัน MAX COOL ที่ช่วยเร่งลมแอร์และเพิ่มความเย็นจนสุดเพียงกดปุ่มเดียว เหมาะกับสภาพอากาศร้อนระอุของเมืองไทยเป็นอย่างดี ส่วนด้านหลังมีแอร์เหนือเพดานเบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับแรงลมได้ 3 ระดับ ใช้ร่วมกันกับผู้โดยสารแถวสุดท้าย
นอกจากนี้ กุญแจรีโมทแบบ Honda Smart Key System ซึ่งใช้งานร่วมกับปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์นั้น ยังมีฟังก์ชัน Remote Engine Start มาให้ด้วย โดยจะเป็นการสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมกับเปิดระบบปรับอากาศจากภายนอกรถเพื่อลดอุณหภูมิภายในห้องโดยสารลง ไม่ต้องทนร้อนผ่าวทุกครั้งที่ขึ้นรถอีกต่อไป ยิ่งถ้าวันไหนต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแดดร้อนๆ ด้วยแล้วล่ะก็ ฟังก์ชันที่ว่านี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นอีกเยอะทีเดียว
เครื่องเสียงของทั้งรุ่น E และ EL เป็นแบบหน้าจอสัมผัส Advanced Touch ขนาด 7 นิ้ว สามารถเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านสาย USB ได้ หรือจะเชื่อมต่อแบบปกติผ่าน Bluetooth ก็ทำได้เช่นกัน มาพร้อมช่อง USB 2 ตำแหน่งบริเวณตอนหน้า ขณะที่เบาะแถว 2 และ 3 จะได้เป็นช่องจ่ายไฟแบบ 12 โวลต์ไปแทน ซึ่งแม้ว่าจะผิดคาดไปบ้างสำหรับรถที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2022 แต่ในอีกแง่หนึ่งหากใช้ร่วมกับหัวชาร์จดีๆ แล้วล่ะก็ จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
หน้าจอขนาด 7 นิ้วที่ว่านี้ ยังสามารถแสดงภาพจากกล้องมองหลังเมื่อเข้าเกียร์ R (ก็อีกนั่นแหละ ทำไมฮอนด้าถึงกล้าตั้งราคาขนาดนี้ แต่ดันไม่ให้กล้องมองรอบคันมา) และระบบแสดงภาพมุมอับสายตา Honda LaneWatch เมื่อเปิดไฟเลี้ยวทางด้านซ้าย ซึ่งจะคอยปรากฏเต็มหน้าจอทุกเมื่อแม้ว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานเพราะขับรถตาม Google Maps อยู่ก็ตาม
ส่วนระบบความปลอดภัย Honda SENSING จะทำงานผ่านกล้องมุมมองกว้างด้านหน้าสำหรับตรวจจับรถยนต์และคนเดินถนน โดยใน BR-V มีให้ทั้งหมด 6 ฟังก์ชัน ประกอบด้วย
ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ทั้งรุ่น E และ EL ได้แก่ ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA), ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA), ระบบป้องกันล้อล็อกและระบบกระจายแรงเบรก (ABS/EBD), ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock), ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยด้านคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า, จุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก (ISOFIX & Child Anchor), ไฟเตือนเบาะนั่งด้านหลัง (ไม่ใช่ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยด้านหลัง แต่เป็นการเตือนว่ามีคนนั่งอยู่ด้านหลังหรือไม่ก่อนที่คนขับจะลงจากรถ)
ส่วนถุงลมนิรภัยของรุ่น E มีให้ทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วยถุงลมคู่หน้า และด้านข้างคู่หน้า ขณะที่รุ่น EL เพิ่มเติมด้วยม่านถุงลมนิรภัย
หากกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับอุปกรณ์มาตรฐานที่เพิ่มขึ้นมาใน Honda BR-V รุ่น EL เมื่อเทียบกับรุ่น E จะประกอบไปด้วย
ก็ลองเทียบดูแล้วกันครับว่าส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม 58,000 บาท คุ้มค่ากับอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้หรือไม่
Honda BR-V ใหม่ ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ i-VTEC ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ (DOHC) ความจุ 1.5 ลิตร รีดกำลังสูงสุดได้ 121 แรงม้า ที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมปุ่มเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift) เฉพาะรุ่น EL เท่านั้น
ส่วนอัตราสิ้นเปลืองอ้างอิงตามที่ปรากฏบน ECO Sticker จะอยู่ที่ 16.1 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ไร้ระบบช่วยอัดอากาศ และสามารถรองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E20
ช่วงล่างด้านหน้าของ BR-V ใหม่ เป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัทอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม H-shape ติดตั้งระบบดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อนด้านหน้า และด้านหลังแบบดรัมเบรกทุกรุ่นย่อย
แม้ว่า Honda BR-V เจเนอเรชันที่ 2 จะยังคงใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร โดยไม่มีระบบอัดอากาศเข้ามาช่วย แต่ในด้านอัตราเร่งก็ถือว่าหายห่วง ด้วยพละกำลังเครื่องยนต์ที่มีแรงบิด 145 นิวตัน-เมตร และเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ก็สามารถตอบสนองได้อย่างลื่นไหล แม้ว่าจะไม่ถึงกับมีแรงดึงหนักๆ เหมือนกับเครื่องยนต์เทอร์โบ แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันทั้งในเมืองและนอกเมือง
ขณะที่การตอบสนองของช่วงล่างในย่านความเร็ว 100 - 120 กม./ชม. ทำได้ดีเช่นกัน ให้ความแน่นหนึบพอประมาณ ซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดี เป็นช่วงล่างที่ถือว่าเหมาะสมกับการใช้งานในครอบครัว ขณะเดียวกันอาการโคลงขณะเข้าโค้งก็ลดลงจากรุ่นก่อนหน้ามาก สัมผัสได้ถึงความพยายามของทีมวิศวกรที่ต้องการเพิ่มคุณภาพการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น
อีกจุดหนึ่งที่น่าประทับใจ คือ การพัฒนา NVH (Noise, Vibration and Harshness) ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเสียงรบกวนจากภายนอก โดยเฉพาะเสียงลมที่ไหลผ่านตัวถังด้านข้าง ขณะที่เสียงจากพื้นถนนยังพอเล็ดลอดเข้ามาให้ได้ยินบ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่รับได้ สามารถพูดคุยสนทนากับคนข้างๆ ได้แบบไม่ต้องเร่งเสียงแต่อย่างใด
จุดขายของ Honda BR-V เจเนอเรชันที่ 2 คงหนีไม่พ้นระบบช่วยเหลือการขับขี่ Honda SENSING ที่มีให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ซึ่งการทำงานของระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผันอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control: ACC) ถือว่าทำออกมาได้ดี ไว้ใจได้สำหรับการขับขี่ระยะทางไกลๆ การลดและเพิ่มความเร็วตามคันหน้าทำได้อย่างนุ่มนวล ไม่กระชาก ขณะที่ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System: LKAS) ก็ทำออกมาได้ดีเช่นกัน ไม่แทรกแซงการควบคุมพวงมาลัยจนน่ารำคาญ ขณะเดียวกันก็ช่วยประคองรถให้อยู่กลางเลนไปได้เรื่อยๆ ถือว่าใช้งานได้จริง ไม่จกตา
Honda BR-V ใหม่ ถือเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ที่ให้คุณภาพการขับขี่ดีเยี่ยมเป็นเบอร์ต้นๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกัน เขยิบเข้าใกล้ความเป็นรถเอสยูวีมากขึ้น เหมาะสำหรับการใช้งานในครอบครัวขยายที่ต้องการเดินทางพร้อมกันหลายคน หรือจะขับไปทำงานคนเดียวก็คล่องแคล่ว ไม่เทอะทะจนเกินไป แต่เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายที่พุ่งทะลุ 9 แสนบาท แลกกับอุปกรณ์มาตรฐานที่ยังรู้สึกว่า “ขาด” ไปบ้าง ก็อาจทำให้ความรู้สึกคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายลดลงไป ก็คงต้องขึ้นอยู่กับคุณผู้อ่านแล้วครับว่าให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน